จิตวิทยากับหมากรุก

จิตวิทยากับหมากรุก



นักกีฬาจะมีสมรรถภาพดีที่สุด เมื่อมีความพร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ หมายความว่าร่างกายจะต้องสมบูรณ์ไม่อ่อนเพลียง่าย ถ้าจะต้องใช้เวลาในการแข่งหลายชั่วโมง ร่างกายของคนเราจะพร้อมได้ก็ต้องประกอบด้วยส่วนประกอบหลายประการ ซึ่งจะต้องมีสารอาหารครบถ้วนได้สัดส่วนและมีคุณภาพดี และอีกประการหนึ่งคือการระวังรักษาสุขภาพมิให้เจ็บป่วยได้ง่าย รวมทั้งบุคคลนั้นจะต้องมีสภาพจิตที่ดีด้วย อย่างไรก็ดี การกีฬาทั่ว ๆ ไปของประเทศไทยเรามักไม่มีการวางแผนล่วงหน้านานพอ ทำให้ร่างกายและจิตใจไม่พร้อมที่จะทำการแข่งขันในวันต่อมา เมื่อพูดถึงกีฬาหมากรุกไทยเป็นกีฬาที่ได้รับการยกเว้นการตรวจยาโด๊ป ใครมีปัญญาหาซื้อมาดื่ม อาบหรือทาได้ทั้งนั้น ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใดทั้งสิ้น สรุปแล้วว่านักกีฬาที่จะทำการแข่งขันต้องมีสุขภาพดี



สุขภาพดี หมายถึง การทานอาหารให้เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมีจิตใจเป็นสมาธิ อาหารที่เหมาะสมสำหรบนักกีฬาควรยึดหลักดังต่อไปนี้



1. กินให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จะกินอย่างไรโดยให้พิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1.1 สภาพของร่างกาย โดยดูจากโครงสร้างของร่างกาย สัดส่วน เพศ และการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น เพศหญิงมีความต้องการสารอาหารมากกว่าผู้ชาย

1.2 อายุ นักกีฬาวัยเด็กที่อยู่ในวัยเจริญเติบโตต้องการสารอาหามากกว่าผู้ใหญ่

2. กินอาหารให้ครบ ถูกส่วน และกินอาหารที่มีคุณภาพ อาหารที่เหมาะสมกับกีฬายังคงยึดหลักการเดียวกับคนปกติ โดยกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ แป้ง, เนื้อสัตว์, ไขมัน, วิตามิน, เกลือแร่ และน้ำ

3. กินอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยแบ่งเป็น 3 - 4 มื้อต่อวัน ไม่ควรอดเป็นบางมื้อ ช่วงที่อดอาหาร ร่างกายจะใช้สารอาหารในกล้ามเนื้อ ซึ่งถ้าใช้เวลาแข่งขันนาน ๆ จะทำให้สมองสั่งให้ร่างกายพักผ่อนทำให้ความคิดไม่แว่บใส ในแต่ละมื้อควรเฉลี่ยให้กินอาหารครบทุกประเภท โดยจัดเป็น 4 ประเภท ดังนี้

- นมและผลิตภัณฑ์จากนม 2 มื้อ

- อาหารเนื้อสัตว์ 2 มื้อ

- แป้งหรือข้าว 4 มื้อ

- ผักและผลไม้ 4 มื้อ

4. จัดให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ต้องเป็นอาหารที่นักกีฬากินได้และคุ้นเคย ซึ่งจะทำให้กินได้ครบถ้วนในปริมาณที่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น นักกีฬาที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ต้องกินอาหารเนื้อเทียมจากพืชแทน หรือไม่ดื่มนมสัตว์ก็ดื่มนมถั่วเหลืองแทน



การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายมีประโยชน์และเป็นสิ่งที่ดี เป็นการทำให้หัวใจมีการสูบฉีดหัวใจไปเลี้ยงร่างกายได้มากขึ้น ทำให้มีการถ่ายสิ่งไม่ดีในร่างกายออกมา การออกกำลังกายที่ดีจะต้องทำต่อเนื่องอย่างน้อย 20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย และต้องเป็นการออกกำลังกายที่หนักปานกลาง เช่น การวิ่งเหยาะ ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ เดิน หรือ แอโรบิก



จิตใจเป็นสมาธิ ความคิดและอารมณ์เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมจะสามารถส่งผลให้บุคคลนั้นไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุขหรือสามารถปรับตัวต่อสภาพความกดดันและสิ่งแวดล้อมได้ ปัญหาทางจิตใจในวงการกีฬาพบได้ไม่น้อย และมีความสำคัญอย่างมากต่อผลทางการกีฬา ตัวอย่างเช่น นักกีฬาที่มีความคิดวิตกกังวลมากหรือกลุ้มอกกลุ้มใจอาจแสดงด้วยการฝึกซ้อมอย่างหักโหมเกินไป หรือบางคนฝึกซ้อมมาดีแต่กลับตื่นกลัวในเวลาแข่งทำให้เกิดการบั่นทอนความสามารถ การวิตกกังวลจะทำให้สมาธิในการเล่นกีฬาไม่ดีเมื่อถึงเวลาการแข่งขัน จะมีอาการตื่นเต้นมากเกินไป อาจแสดงออกโดยมีอาการเหงื่อท่วมตัว หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หมดแรงอย่างรวดเร็ว และปวดเมื่อยตามตัว บางคนถึงกับมีอาการท้องเดิน ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ความสามารถทางกีฬาลดลง



ปัญหาทางจิตจะเกิดขึ้นในนักกีฬาหรือไม่นั้น ขึ้นกับสุขภาพจิต บุคลิกภาพ แรงจูงใจ และประสบการณ์ในการแข่งขันของนักกีฬา รวมทั้งสภาพแวดล้อมก่อนและหลังการแข่งขัน ดังนั้นนักกีฬารวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรได้รู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตพื้นฐานต่อการกีฬา รวมถึงแรงจูงใจในการเล่นกีฬาแต่ละคน ความเครียดที่เกิดขึ้นในนักกีฬาและปฏิกริยาทางจิตวิทยาของนักกีฬาต่อผลการแข่งขันเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตแก่นักกีฬา



การกีฬา หมายถึง กิจกรรมหรือการออกกำลังกาย เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือผ่อนคลายความเครียดทางจิต



สุขภาพจิต หมายถึง สภาพจิตใจหรืออารมณ์ของคนที่ใช้ในการแก้ปัญหาหรือปรับปรุงตนเองให้อยู่กับสภาพที่เป็นจริงในการดำเนินชีวิต ผู้ที่มีสุขภาพจิตดี คือผู้รู้จักพึงพอใจในตนเอง ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ โกรธ อิจฉาริษยา วิตก กังวล มีความเบิกบานอยู่เป็นนิจ เมื่อผิดหวังก็สามารถรับได้ มีทัศนคติที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น ยอมรับข้อบกพร่องและรู้จักใช้ความสามารถที่มีอยู่ มีความคิดรอบคอบ วางแผนการล่วงหน้าโดยไม่หวั่นเกรงอนาคต สามารถตัดสินใจได้เอง พยายามทำทุกสิ่งให้ดีที่สุดและพึงพอใจกับผลการกระทำนั้นๆ



ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพ มีดังนี้

1. สุขภาพของร่างกาย ถ้าร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์จะทำให้สุขภาพจิตดี

2. บุคลิกภาพเดิมที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาแต่วัยเด็ก เช่น เป็นคนที่เชื่อมั่นตัวเองดี มีศีลธรรม ชอบช่วยให้ปรับตัวได้ดี หากเป็นบุคลิกภาพที่ชอบพึ่งพาคนอื่นอยู่เสมอ เมื่อเผชิญกับปัญหาหรือสภาพแวดล้อมที่เครียดมากๆ จะไม่สามารถปรับตัวได้

3. สติปัญญาการเรียนรู้ โดยผ่านการอบรมสั่งสอนจากโรงเรียน หรือจากประสบการณ์และกรรมพันธุ์ที่มีมาแต่กำเนิด ช่วยให้รู้จักใช้เหตุผลในการปรับตัวได้

4. สิ่งแวดล้อม เช่น ครอบครัว ญาติพี่น้อง ครูและเพื่อนที่โรงเรียนหรือเพื่อนที่ทำงาน รวมไปถึงกลุ่มชน สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ มีส่วนส่งเสริมหรือบั่นทอนความสามารถปรับตัวของตนได้ โรคจิตเป็นผลจากจิตที่มีความเครียดมากจนกระทั่งไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติได้ ด้วยเหตุนี้ จิตแพทย์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมนักกีฬา โดยมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะแนวสุขภาพจิตแก่นักกีฬา โดยผู้จัดการและญาตินักกีฬาเป็นต้น



แรงจูงใจ หมายถึงเหตุจูงใจที่ทำให้ความต้องการของตนได้รับการตอบสนองอย่างพึงพอใจ และทำให้พฤติกรรมของคนคนนั้นบรรลุเป้าหมาย แรงจูงใจในนักกีฬาแต่ละคน เช่น ตนเองพอใจในกีฬาประเภทใดก็สามารถทำได้ดี และประสพผลสำเร็จคือชัยชนะในการแข่งขัน



ความเครียดที่เกิดขึ้นในนักกีฬา คนเราแต่ละคนล้วนเคยพบกับความเคร่งเครียดและวิตกกังวลหรือมีอารมณ์ไม่ดีเกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้รู้สึกท้อถอยมากๆ และไม่อยากทำอะไรเลยไปชั่วขณะ นักกีฬาก็เช่นกัน คือต้องเผชิญกับความเครียดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ต่อไปนี้



1. การฝึกซ้อมอย่างหนักก่อนการแข่งขัน

2. ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลของการแข่งขัน ยิ่งหวังชัยชนะมาก ก็ยิ่งกังวลมาก เพราะกลัวความผิดหวัง

3. ความกลัวคู่แข่งขันและสถานที่แข่งขันที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไปแข่งขันที่ต่างประเทศ จะเกิดความไม่มั่นใจและต้องปรับตัวอย่างมาก

4. การเก็บตัวนักกีฬาเพื่อการฝึกซ้อมก่อนการแข่งขันจะมีความเครียด เพราะนักกีฬาจะถูกกักบริเวณ อาหารไม่ถูกปาก หรือเข้ากับเพื่อนๆ ไม่ได้ จะทำให้ว้าวุ่นใจมีความขัดแย้งภายในจิต



การแก้ไขความเครียด



1. มีเรื่องไม่สบายใจอย่าเก็บไว้คนเดียว ควรปรึกษากับคนที่เราแน่แก่ใจ

2. พยายามทำความเข้าใจให้ความรัก ความเอาใจใส่กับคนที่ตนอยู่อย่างใกล้ชิด

3. ควรใช้เวลาว่างในกิจกรรมที่ทำให้เกิดการักผ่อนหย่อนใจอย่างเหมาะสม ไม่ทำให้เกิดโทษกับตนเองและผู้อื่น เช่น งานอดิเรก การฟังเพลง เป็นต้น

4. หมั่นศึกษาติดตามความเคลื่อนไหวในสภาพแวดล้อมของตนเพื่อปรับความรู้สึกนึกคิดให้เหมาะสม

5. กำหนดเป้าหมายในการทำงาน ต้องเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ และอยู่ในความเป็นจริง

6. สร้างนิสัยในการทำงานที่ดี

7. แสดงอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของตนเองให้ผู้อื่นทราบ

8. อดกลั้นต่อความไม่สมหวัง

9. พยายามรู้จักตนเอง รู้จักสภาพแวดล้อมอย่างถูกต้อง เลือกเล่นกีฬาตามความรู้สึกความสามารถของตนฝึกฝนกีฬาให้พอเหมาะ และไม่บั่นทอนสุขภาพของตนจนเกินไป

10. รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และนอนหลับให้เพียงพอ



การปฏิบัติดังกล่าวมานี้ จะช่วยให้สามารถปรับตัวต่อความเครียดและส่งผลให้มีความสามารถในการเล่นกีฬาได้ดียิ่งขึ้น



ผู้เขียน: นาวาเอกบุญแสง มาลามาศ รน.



Credit: ThaiBG.com



เอกสารนี้ผมขออนุญาตมาเผยแพร่แล้วนะครับ

ห้ามเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตนะครับ



ปล.เท่าที่อ่านดูใช้ประยุคได้ในหลายๆด้านนะครับ
Miscellaneous

ร่วมแสดงความเห็น

ติดต่อเรา