ความตายที่เกาะสมุย (Fwd Mail ที่อยากให้ได้อ่าน)

บทความนี้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นผู้เขียน

นำมาจากเวบพันทิบ

อ่านแล้วเศร้า อยากให้เพื่อนๆได้อ่าน







ความตายที่เกาะสมุย



ผมมองดูเต่ากระตัวนั้น พยายามอ้าปากงับผักกาดจากมือฝรั่ง

ก่อนกระเดือกลงไปอย่างหิวกระหาย ด้วยความรู้สึกบรรยายไม่ถูก

ความรู้สึกยิ่งบรรยายไม่ถูก เมื่อผักกาดขนาดเท่านิ้วโป้งทั้งสามชิ้น

ถูกป้อนจนหมด แต่เต่าหลายตัวยังโผล่ขึ้นมาตะกายขอบบ่อ พลาง

มองหน้าผู้คนด้วยสายตาเฝ้าวิงวอน พวกเขากำลังหิว แม้สงสาร

เต่าแค่ไหน แต่ผมไม่สามารถตัดใจควักแบงค์ 20 บาทจากกระเป๋า

เพื่อซื้อผักกาดสามชิ้นให้เต่ากิน เพราะตั้งแต่เกิดมา ร่ำเรียนมาก็

พอสมควร..ผมยังไม่เคยทราบเลยว่าเต่ากระกินผักกาดเป็นอาหาร



จากภาพบาดตา ผมเบือนหน้าหนีเพื่อไปพบกับตู้กระจกขนาดใหญ่

ข้างในคือปลาหมอทะเลและปลาเก๋ายักษ์เกือบสิบตัว หลายตัวนอน

นิ่งกับพื้น โบกครีบช้าๆ คล้ายหมดแรง นักดำน้ำหลายคนบอกผมว่า

ปลาเก๋ายักษ์แถวกองชุมพรหายไป ผมอยากเดาว่าพวกเขาอพยพ

มาอยู่ในที่แห่งใหม่…ในตู้กระจกกลางอาคารแห่งหนึ่งบนเกาะสมุย



คุณผู้อ่านอาจสงสัย ผมกำลังเล่าเรื่องอะไรอยู่เนี่ย?



ความเดิมเริ่มจากการไปเยือนเกาะสมุย ผมเห็นโฆษณาว่ามี

อะควอเรี่ยมเอกชนอยู่แห่งหนึ่ง จึงแวะเวียนเข้าไปชม เพราะอยากรู้

ว่ามีอะไรข้างในบ้าง?







เริ่มจากทางเข้าอะควอเรี่ยม มีป้ายบอกเวลาเปิดปิด ค่าผ่านประตู

สำหรับฝรั่ง 6.5 เหรียญสหรัฐ สำหรับคนไทยคนละ 100 บาท เหนือ

ป้ายนั้นคือประกาศนียบัตร “Certificate of Honour - Master of

International Tourism Excellent” ออกให้โดยหน่วยงานชื่อ MITEX

ผมไม่ทราบว่า MITEX คือชื่อย่อของหน่วยงานไหน? แต่หลังจาก

เสร็จสิ้นการชมอะควอเรี่ยม ผมสงสัยว่าหน่วยงานนี้ใช้อะไรพิจารณา

ในการมอบประกาศนียบัตรยกย่องแหล่งท่องเที่ยว?



เมื่อจ่ายเงินเรียบร้อย ผมเดินผ่านเข้าไปในอาคารที่ปิดไฟมืดสนิท

มีเพียงแสงจากตู้ปลาให้ความสว่างสลัวๆ ตู้แรกที่เห็น เป็นปลาทั่วไป

พบได้ทั่วทะเลไทย แต่ที่สะดุดใจมากคือ “กัลปังหา” ที่ยังมีชีวิต (สังเกต

จากหนวด) ตลอดทางเดินสายนั้น เกือบทุกตู้มีกัลปังหาที่มีชีวิต

ส่วนใหญ่เป็นสกุล Ctenocella (หวีทะเล) และสกุล Ellisella (กัลปังหาเส้น)

ผมจำได้ว่ากัลปังหาพวกนี้พบอยู่บ้างในแนวปะการังรอบเกาะสมุย

สิ่งสำคัญไม่ใช่อยู่ตรงนั้นหรอกครับ แต่อยู่ที่ว่า “กัลปังหา” เป็นสัตว์

คุ้มครองตามกฏหมายประมง ห้ามมีไว้ในครอบครอง ผมจึงสงสัยว่า



อะควอเรี่ยมแห่งนี้อาศัยอำนาจใดในการเลี้ยงกัลปังหาไว้ในตู้เป็น จำนวนมาก?



ผมเดินต่อไปจนถึงตู้ปลาการ์ตูน ก่อนร้องโอ้โฮเฮะ เพราะปลาการ์ตูน

หลายสิบว่ายกันให้วุ่น มีดอกไม้ทะเลเหี่ยวๆ ใกล้ตายอยู่หนึ่งกอ ปลา

การ์ตูนที่ต้องอยู่กับดอกไม้ทะเลตลอดเวลา เพราะธรรมชาติสร้าง

สัมพันธ์เช่นนี้มาหลายล้านปี แต่ตอนนี้เขาต้องมาว่ายอย่างโดดเดี่ยว

เพื่อรอวันตายในตู้กระจก ผมรีบจ้ำผ่านตู้ปลาการ์ตูน เพราะไม่อยาก

เห็นภาพแย่ๆ เช่นนี้ แต่ผมกลับเจอภาพที่แย่กว่า…ปลาวัวเหล่านั้นยัง

อยู่ในวัยเด็ก ตัวขนาดเท่านิ้วโป้ง มีหลายสิบหรือนับร้อยตัว ว่ายชนกัน

ให้มั่วอยู่ในตู้กระจกเล็กๆ ที่ร้ายกว่านั้นคือปลาวัวมงกุฏห้าหกตัว ใหญ่

ขนาดแค่ฝ่ามือ นักดำน้ำรู้จักพวกเขาดีในนามของ Titan ด้วยอุปนิสัย

ที่ชอบว่ายเข้ามาจรดๆ จ้องๆ คอยเฝ้ามองผู้คน บางครั้งก็อาจเข้ามา

กัดเพราะอยู่ในช่วงทำรังวางไข่ ผมเคยเรียกเขาว่า “ปลาวัวอำมหิต”

เคยว่ายเอาเถิดเอาล่อกับปลาวัวชนิดนี้หลายครั้ง เคยแม้แต่รู้สึก

เกลียดพวกเขา แต่สิ่งที่ผมเห็นในตู้ ทำให้ความรู้สึกที่แล้วๆมา...หาย

ไปหมดเลย เพราะไตตันที่เคยกร้าวแกร่ง เป็นผู้ครองแนวปะการัง…

บัดนี้นอนซบอยู่บนก้อนหิน เปิดเหงือกหายใจพะงาบๆ พร้อมจ้องมอง

ผมด้วยสายตา...ที่บอกไม่ได้...บรรยายไม่ได้ แต่ยกตัวอย่างได้ เหมือน

สายตาของลูกหมาข้างถนน ที่ถูกรถชนก่อนตาย เป็นสายตาที่ไม่ได้

เว้าวอน ไม่ได้ขอให้ช่วย แต่คล้ายถามว่า “ฉันทำอะไรผิด?”



ถัดจากตู้ปลาวัวเป็นตู้เล็กๆ ที่นี่ไม่มีปลามานอนจ้องหน้า เพราะเขา

กลายเป็นศพ เหลือแต่โครงกระดูกองอยู่บนเศษปะการังก้นตู้ ศพ

ของปลาปักเป้ากล่อง พอบอกได้ว่า เขาตายตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ไกลนัก

เป็นตู้กระจก มีดาวทะเลอยู่เต็มไปหมด แต่เมื่อสังเกตให้ดี ผมมอง

เห็นกุ้งตัวตลก 2 ตัวเกาะอยู่มุมตู้ สีของพวกเขาซีดจาง ไม่มีตัวไหน

พยายามกินดาวทะเลเลย กุ้งตัวหนึ่งพยายามชูก้ามขู่ผม ก่อน

ปล่อยก้ามตกลงไปแบบหมดเรี่ยวหมดแรง พฤติกรรมนี้แตกต่าง

จากกุ้งที่ผมเคยเห็นในแนวปะการัง...คนละเรื่อง



ผมเคยเขียนเรื่อง “นรกตู้ปลา” มีกุ้งตัวตลกกลางห้างสรรพสินค้า

เป็นพระเอก เมื่อไม่นานมานี้ยังเขียนเรื่อง “สองกุ้งตัวตลก” ใน

“ผู้จัดการ” และเขียน “เรื่องไม่ตลก...ของกุ้งตัวตลก” ลงนิตยสาร

ATG เรื่องทั้งหมดกล่าวถึงกุ้งตัวตลกที่เป็นสัตว์ทรงคุณค่าด้านการ

ท่องเที่ยวดำน้ำต้องจบชีวิตในตู้ปลาแคบๆ มีบางคนเข้าใจว่า ผม

แต่งเรื่องขึ้นมาให้ชีวิตกุ้งน่าสงสาร ผมอยากบอกให้พวกเขาไป

เกาะสมุย แล้วดูด้วยสายตาตนเอง







เหลือบมองไปข้างๆ กุ้งตัวตลก ผมสะดุ้งเฮือก เพราะสัตว์ที่นอนนิ่ง

อยู่ตรงนั้นคือ “ปลากบ” ตัวของเขาขนาดไม่ใหญ่กว่านิ้วโป้ง อยู่ใน

ช่วงวัยอ่อน เมื่อเติบโตขึ้นมาจะมีขนาดเกือบเท่ากำปั้น ปลากบ...

เนี่ยนะ? สัตว์ที่นักดำน้ำชาวไทยและชาวต่างชาติแห่กันไปดู มีอยู่

ตัวเดียวที่สิมิลัน นักดำน้ำลงไปไม่รู้ปีละกี่พันเพื่อไปชื่นชมเจ้าปลากบ

ผมบรรยายไม่ถูกว่า ความสำคัญของปลากบมีแค่ไหน? อยากให้

ลองถามนักดำน้ำที่เป็นเพื่อนคุณ ลองเข้าไปถามในเว็ปบอร์ดต่างๆ

ที่เกี่ยวกับเรื่องทะเล ถามเลยว่า...ปลากบสำคัญมั้ย?



เราเดินมาถึงบ่อน้ำขนาดใหญ่สองสามบ่อ จุดนี้เองที่ผมได้ชมการ

เลี้ยงอาหารเต่ากระด้วยผักกาด” เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่สำคัญคือ

นักท่องเที่ยวต้องเป็นคนจ่ายเงินจำนวน 20 บาท เพื่อแลกกับการ

ป้อนผักกาดให้เต่ากระสามชิ้น ผมไม่ทราบว่าอะควอเรี่ยมแห่งนี้



อาศัยอำนาจเช่นใดในการเลี้ยงเต่าทะเลที่เป็นสัตว์คุ้มครองเกือบ

สิบตัว เพื่อให้นักท่องเที่ยวป้อนด้วยผักกาด? คงเป็นโครงการ

อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลที่แปลกดีพิลึก ผมยังอยากพาคนที่เคย

ปล่อยเต่าทะเลนับพันนับหมื่นทั่วประเทศ มาเห็นภาพเช่นนี้

เหมือนผม…เห็นมั้ยล่ะ....เต่าที่อาจเป็นเจ้าตัวที่คุณปล่อยไป

กำลังกินผักกาดอยู่นะ



ตู้ปลาช่วงสุดท้ายมีขนาดใหญ่ ด้านหนึ่งมีปลาเก๋ายักษ์นับสิบ

นอนนิ่งอยู่ตามพื้น อีกด้านหนึ่งคือตู้ปลาสารพัดชนิด รวมถึงสอง

ตัวที่ผมเห็นแล้ว...อ้าปากค้าง หนึ่งในนั้นคือ “ปลากะรังหน้างอน”

การประชุมด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสผ. พ.ศ.2538

บอกไว้ชัดเจนว่า “เป็นปลาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” อีกหนึ่งคือ

“ปลานโปเลียน” ความยาวเมตรเศษ การประชุมของสผ. ไม่ได้

ระบุไว้ เพราะไม่มีรายงานในประเทศไทย เราเพิ่งรายงานอย่าง

เป็นทางการครั้งแรกเมื่อต้นปี 2543 เจ้าตัวนี้ไม่ได้เสี่ยงต่อการ

สูญพันธุ์ เพราะในเมืองไทยที่ผมเคยเห็นแค่ 2 ตัว เรียกว่าปลา

กำลังสูญพันธุ์ได้เลย...ไม่ต้องเสี่ยง







แสงสว่างจ้าบาดตา เมื่อผมเปิดประตูกระจกออกมาข้างนอก

อาจเป็นเพราะแสงอาทิตย์…อาจเป็นเพราะอะไรก็ไม่รู้? ผมรู้สึก

เคืองตา น้ำตาพาลจะไหล หันไปดูเหล่านิสิตที่อยู่ข้างๆ หลายคน

ทำจมูกฟุดฟิดคล้ายเป็นหวัด แต่หนูดาวสาวเจ้าไม่ชอบเก็บอารมณ์

เธอกำลังร้องไห้อยู่เงียบๆ สัตว์คุ้มครอง (กัลปังหา เต่าทะเล) สัตว์

เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (ปลากะรังหน้างอน) สัตว์รายงานแรกๆ ของ

เมืองไทย (ปลานโปเลียน) สัตว์ที่มีคุณค่าต่อการท่องเที่ยวดำน้ำ

(ปลากบ กุ้งตัวตลก) ทั้งหมดมีอยู่พร้อมสรรพในอะควอเรี่ยมที่ “เกาะสมุย”



สัตว์ไม่คุ้มครอง ไม่มีรายชื่อที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อาจมีคุณค่า

เพียงเล็กน้อยต่อการท่องเที่ยวดำน้ำ แต่พวกเขามี “ชีวิต” อีกนับ

พันหรือหลายพันชีวิตกำลังโดนกักขังอยู่ในนรกตู้ปลา



จากการแยกชนิดปลาอย่างคร่าวๆ ผมพบว่าในนี้มีปลามากกว่า

80 ชนิด มากกว่าที่ดำน้ำเจอรอบเกาะสมุยติดต่อกัน 7 วัน



อะควอเรี่ยมมีไว้เพื่ออะไร? ผมพอเข้าใจหากเป็นที่บางแสนหรือ

ที่ภูเก็ต มีคุณพ่อคุณแม่พาลูกๆไปดู มีนักเรียนมากมายไปกับ

คุณครู เด็กๆ เหล่านั้นไปเพื่อเรียนรู้สิ่งสวยงามใต้ท้องทะเลเพราะ

ไม่มีโอกาสได้ดำน้ำไปดูด้วยตนเอง แม้เบื้องหลังของปลาในตู้ที่ดู

สวยงาม คือศพปลาวางเรียงรายกันอยู่ในถัง คือสวิงที่ต้องออกไป

จับสัตว์ แต่อย่างน้อยอะควอเรี่ยมสองแห่งเป็นของรัฐ มีนักวิชาการ

ดูแลอย่างใกล้ชิด ถูกจัดตั้งมาเพื่อการศึกษา มีการวิจัยค้นคว้า

เพื่อหาทางอนุรักษ์ทะเลไทย บางแสนเพาะพันธุ์ม้าน้ำ ภูเก็ตเพาะ

พันธุ์เต่า เพาะพันธุ์ฉลามเสือดาว แต่อะควอเรี่ยมที่เกาะสมุย มีไว้

เพื่อเหตุผลใด? ถ้าเป็นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ผมอยากบอกว่า

ไม่เชื่อ...ไม่จริง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น คือการทำลายล้างทรัพยากรการ

ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างตรงไปตรงมา จับปลาในแนวปะการังมา

ขังไว้ให้คนดูจนตาย นี่เหรอ...การท่องเที่ยว? ผมยังไม่เห็นป้าย

ความรู้แม้แต่อันเดียว ไม่ว่าภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ไม่มีชื่อปลา

ไม่มีชนิดปลา ไม่มีแหล่งที่อยู่ ไม่มีอะไรสักอย่าง ทั้งหมดที่เห็นคือตู้ขัง

ปลาและบ่อขังเต่า



Miscellaneous

ร่วมแสดงความเห็น

ติดต่อเรา