คืนนี้มีฝนดาวตกครับ
ดาวตก ... ก็ต้องอธิฐานซิ ... วิ้วววววว
ข้อมูลครับ
คืนวันศุกร์นี้เหล่าคนรักดวงดาวเตรียมชม "ฝนดาวตกเลโอนิดส์" ที่ปีนี้อาจมีจำนวนมากกว่าปกติ แม้มากเท่าเมื่อปี 2544 แต่ในประเทศไทย เห็นชัดได้ตั้งแต่ตี 2 ถึงตี 4 ของคืนศุกร์ต่อเช้าวันเสาร์ที่ 20 พ.ย.
นายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดเผยผ่านเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทยว่า ผลงานวิจัยโดยเจอเรมี วอเบลลอน (Jeremie Vaubaillon) เอสโค ลือทิเนน (Esko Lyytinen) โรเบิร์ต แมกนอต (Robert McNaught) และเดวิด แอเชอร์ (David Asher) ที่ตีพิมพ์ในวารสารขององค์การดาวตกสากลเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ผลการพยากรณ์ใกล้เคียงกันว่าปีนี้ โลกจะผ่านใกล้เส้นทางของธารสะเก็ดดาวที่เกิดจากดาวหางเทมเปิล-ทัตเทิล(Tempel-Tuttle) ที่ทิ้งไว้ในปี ค.ศ. 1733 ทำให้อาจมีโอกาสเห็นดาวตกจาก "ฝนดาวตกเลโอนิดส์" (Leonids) หรือ "ฝนดาวตกสิงโต" ในจำนวนมากกว่าปกติเล็กน้อย ด้วยอัตราสูงสุดไม่เกิน 30-65 ดวงต่อชั่วโมง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในบริเวณที่เห็นจุดกระจายดาวตกอยู่สูงกลางฟ้าในเวลาประมาณตี 2 ถึงตี 4 ของวันที่ 20 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย
ทั้งนี้ ถ้าหากผลการคำนวณข้างต้นมีความแม่นยำใกล้เคียงความเป็นจริง ในคืนวันศุกร์ที่ 19 พ.ย.ต่อเช้ามืดวันที่ 20 พ.ย.บนท้องฟ้าเหนือประเทศไทย คนไทยที่สังเกตการณ์จากสถานที่ๆ ท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงไฟรบกวน อาจมีโอกาสมองเห็นดาวตกจากฝนดาวตกสิงโตระหว่างเวลาเที่ยงคืนถึงเช้ามืด ด้วยอัตราสูงสุดไม่เกิน 15-50 ดวงต่อชั่วโมง (คนที่อยู่ในเมืองจะเห็นได้น้อยกว่านี้มาก)
อย่างไรก็ดี ฝนดาวตกเลโอนิดส์ได้ปรากฎขึ้นแล้วตั้งแต่ช่วงกลางวันของวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ว่าเราไม่สามารถสังเกตเห็นบนท้องฟ้าบริเวณภูมิภาคเอเชียได้ ซึ่งในบริเวณประเทศไทยจะได้เห็นบ้างในช่วงกลางคืน แต่ะจะได้เห็นในวันที่กล่าวมา ซึ่งเป็นวันที่คาดว่าจะมีจำนวนฝนดาวตกต่อชั่วโมงมากที่สุด ทั้งนี้ ทางสมาคมดาราศาสตร์เตือนว่า ทั้งหมดนี้เป็นการพยากรณ์โดยอาศัยแบบจำลองเทียบกับปรากฏการณ์ในอดีตเท่านั้น ที่ผ่านมาแม้นักดาราศาสตร์สามารถพยากรณ์เวลาการเกิดได้แม่นยำพอสมควรก็จริง แต่ยังมีความผิดพลาดในด้านการประมาณอัตราสูงสุดของดาวตกอยู่
สำหรับฝนดาวตก “สิงโต” หรือ ลีโอนิดส์ (Leonids meteor shower) พบเคยปรากฏให้เห็นชัดในประเทศไทยล่าสุดในเย็นวันที่ 18 พ.ย. ถึงช่วงเช้าของวันที่ 19 พ.ย.44 โดยปรากฏการณ์ในครั้งนั้นถือว่าเป็นฝนดาวตกที่เห็นได้ชัดมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดาวตกที่เห็นส่วนมากจะมีขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า "ลูกไฟ" (Fireball) วิ่งผ่านท้องฟ้า เป็นทางยาว มีหลายสี เช่น สีเขียว สีขาว มีหัวสีส้ม และมีบางดวงที่ทิ้งควันไว้ให้เห็นได้หลายนาทีก่อนที่จะจางหายไป จำนวนดาวตกนั้นประมาณ 300 กว่าดวงตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตีสาม และยังมีให้เห็นจนถึงช่วงเช้ามืด
ฝนดาวตกเลโอนิดส์นั้นมาจากที่ดาวหางเทมเปิล-ทัตเทิลซึ่งเป็นดาวหางคาบสั้น ที่มีคาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์รอบละ 33.2 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ได้ผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ในทุก 33-34 ปีมีฝนดาวตกกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ โดยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย.08 โดยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดที่ระยะ 0.982 หน่วยดาราศาสตร์ (ใกล้เคียงกับระยะที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มาก) เพราะได้ทิ้งเศษฝุ่นและน้ำแข็งซึ่งเป็นองค์ประกอบของดาวหางจำนวนมหาศาลไว้ตามทางโคจรที่ดาวหางเคลื่อนที่ผ่าน และทุกปีในราวกลางเดือนพฤศจิกายน โลกจะโคจรตัดกับวงโคจรของดาวหางนี้ ทำให้เกิดฝนดาวตกเป็นจำนวนมากทุกปีในช่วงเวลาดังกล่าว และเนื่องจากฝนดาวตกที่ปรากฏจะอยู่ในทิศทางเดียวกับกลุ่มดาวสิงโต จนดูเหมือนกับว่าพุ่งออกมาจากกลุ่มดาวสิงโต จึงเป็นที่มาของการเรียกฝนดาวตกชุดนี้ว่า “ฝนดาวตกสิงโต”
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
/me กลับไปทำงานต่อ Y__Y
Miscellaneous