จีนจัดระเบียบคุมเข้มบริการอินเตอร์เน็ต พุ่งเป้าเงินเสมือนหวั่นกระทบเศรษฐกิจโลกจริง
จีนผุดโครงการอินเตอร์เน็ตใสสะอาด คุมเข้มการเข้าถึงโลกออนไลน์ของตี๋หมวยในประเทศ ออกระเบียบการใช้เงินในโลกเสมือนบนเกมออนไลน์ หวั่นลามกระทบถึงโลกเศรษฐกิจจริง พร้อมสั่งห้ามปีนี้งดเปิดเน็ตคาเฟ่ร้านใหม่เพิ่มเติม ผู้นำประเทศรับสื่อออนไลน์เป็นภัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเมือง ต้องคุมเข้มเช่นสื่อทั่วไป
พรรคคอมมิวนิสต์ผู้นำในรัฐบาล ร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล 14 แห่ง และธนาคารกลางของจีนประกาศออกมาตรการคุมเข้มจำกัดการใช้เงินเสมือนในเกมออนไลน์ไม่ให้นำไปใช้แลกเปลี่ยนกับเงินในโลกจริง โดยแสดงความหวั่นเกรงว่า อิทธิพลจากเงินเสมือนในโลกอินเตอร์เน็ตจะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินในโลกเศรษฐกิจจริง จึงกำหนดให้ใช้เงินเสมือนได้เฉพาะซื้อสินค้าและบริการเสมือนในโลกออนไลน์กับบริษัทที่ออกเงินดังกล่าวขึ้นใช้เท่านั้น และห้ามไม่ให้มีการจ่ายแจกทั่วไป นอกจากนี้ ยังสั่งห้ามผู้ใช้อินเตอร์เน็ตซื้อ-ขายเงินเสมือนโดยแลกกับเงินจริงเพื่อทำกำไร หากผู้ใดละเมิดคำสั่งจะถือว่าก่ออาชญากรรมทางการเงินตามกฎหมายด้านการธนาคารของจีนที่บัญญัติไว้
การออกมาตรการดังกล่าว เป็นหนึ่งในนโยบายคุมเข้มการใช้งานอินเตอร์เน็ตในประเทศ ซึ่งสะท้อนว่าเส้นแบ่งเขตระหว่างโลกเสมือนและโลกแห่งความจริงกำลังจางลงไปทุกขณะ ส่งผลให้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายตุลาการแต่ละประเทศต้องพยายามอย่างหนักในการออกกฎควบคุมเศรษฐกิจของโลกออนไลน์ ที่ขยายการเติบโตไปร่วมหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการค้าขายสิ่งของเสมือน โดยเฉพาะบทบาทจากเงินเ "เหรียญคิวคิว" ที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากการพัฒนาของบริษัทเทนเซ็นต์ ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการการรับ-ส่งข้อความและผู้ให้บริการเกมออนไลน์ในจีน
ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรับ-ส่งข้อความของเทนเซ็นต์ราว 2 ใน 3 ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหมด137 ล้านคนในจีน และเหรียญคิวคิว กลายเป็นเงินแลกเปลี่ยนที่ได้รับการยอมรับในฐานะสื่อกลางซื้อขายกระทั่งกับบริษัทอื่น
นอกจากการคุมเข้มเรื่องการใช้เงินเสมือนแล้ว ภายใต้โครงการสร้างอินเตอร์เน็ตที่ใสสะอาด จีนยังออกกฎเหล็กไม่อนุญาตให้มีการตั้งร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่เพิ่มอีกในปีนี้ จากปัจจุบันที่จีนมีร้านอินเตอร์เน็ตแล้ว 113,000 แห่งทั่วประเทศ และจะลงโทษร้านที่ปล่อยให้เด็กเข้าไปใช้บริการ โดยจีนมองว่า ร้านอินเตอร์เน็ต กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดพฤติกรรมเสพติดอินเตอร์เน็ตอย่างงอมแงมโดยเฉพาะผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
ถึงขั้นว่าประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ออกมาเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้ดำเนินการสร้างสิ่งแวดล้อมสำหรับการใช้อินเตอร์เน็ตที่ดี และมองว่าอินเตอร์เน็ตคือ ภัยคุกคามการพัฒนาวัฒนธรรมทางสังคม ความมั่นคงของข้อมูล และเสถียรภาพของประเทศอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องให้มีการคุมเข้มเช่นเดียวกับสื่อทั่วไปที่มีอยู่ และรัฐจำเป็นต้องใช้วิธีการใหม่ๆ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อกำกับแนวทางความคิดเห็นของประชาชน และปรับปรุงระบบความปลอดภัยบนอินเตอร์เน็ตให้ดียิ่งขึ้น
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ IT news
News