วีดีโอเกม วัตถุดิบที่ฮอลลีวู้ดไม่ควรแตะต้อง?





เมื่อช่วงหลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่ผมกำลังติดตามข่าวสารหนังตามปกติ ก็มีข่าว3ข่าวที่ทำให้ผมสนใจแต่ก็ล้วนเป็นข่าวร้ายหมด ข่าวการพักการสร้าง Bioshock ข่าวผู้กำกับถอนตัวจากโปรเจคหนัง Uncharted และข่าวที่หนัง HALO กำลังจะเป็นแค่ฝันลมๆแล้งๆของแฟนเกม มันเลยทำให้ผมลองไปติดตามหาข้อมูลเล่นๆก็พบกับเรื่องที่น่าตกใจอย่างมาก ที่อเมริกานั้น มีภาพยนต์ที่สร้างจากเกมผ่านหลักร้อยล้านเพียงแค่ Tomb Raider เรื่องเดียวเท่านั้น และที่น่าหดหู่กว่าคือมีภาพยนต์จากเกมที่ทำรายได้พอจะเรียกว่ากำไรจากรายได้ทั่วโลกมีไม่ถึง10เรื่องจากกว่า30เรื่อง น่าตกใจอย่างมหาศาลที่หนังที่สร้างจากเกมกลายเป็นวัตถุดิบที่น่าจะเรียกได้ว่าชวนให้เสี่ยงขาดทุนมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของวัตถุดิบที่จะนำไปสร้างเป็นหนังฮอลลีวู้ด แล้วทำไมล่ะ ทำไมเกมทั้งที่ดูแล้วน่าจะเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่สามารถสร้างเป็นหนังได้ กลับกลายเป็นหายนะและสื่อที่ชวนขาดทุนมากที่สุดของฮอลลีวู้ดแทน ผมเลยลองคิดมาก็พบว่า







1.เกมไม่ได้ตั้งใจเป็นหนังแต่แรกอยู่แล้ว



วีดีโอเกมพื้นฐาน มันถูกสร้างมาเพื่อให้คนที่จับจอยเล่นนั้นได้เป็นตัวแทนพระเอกในเกมดำเนินเรื่องราวต่างๆ ซึ่งแต่ละเกมก็ล้วนมีเส้นทางที่แตกต่าง เกมก็ล้วนมีความยาวที่มากมายเพียงพอที่ผู้สร้างจะจุมันเข้าไปตามความปราถนา แต่ทว่าภาพยนต์ไม่ใช่แบบนั้น ภาพยนต์คือเรื่องราวที่คนดูกำลังรับชม ระยะเวลาในการฉายภาพยนต์แต่ละเรื่องอย่างมากก็ไม่ควรที่จะเกิน 2ชั่วโมงครึ่ง แล้วด้วยข้อจำกัดจุดนี้เราจะยัดเกมที่อย่างน้อยมีความยาวมากกว่า3ชั่วโมงลงไปในภาพยนต์ได้อย่างไร ถ้าเป็นยุคนี้หลายคนอาจจะบอกว่าก็เอาคัตซีนในเกมมาทำหนังก็ได้ แต่เวลาเราปราบบอสล่ะ เวลาเราผจญภัยล่ะ มันล้วนเป็นภาพในเกมซึ่งก็ต้องคัดเลือกมาใส่อยู่ดี



อีกทั้งมีเกมอีกหลายๆเกมที่พื้นฐานเนื้อเรื่องมีแค่นิดเดียว คุณสามารถที่จะเขียนเนื้อเรื่องเกมจบได้ใน1บรรทัด นอกนั้นล้วนเป็นการผจญภัยจะดัดแปลงเป็นหนังได้อย่างไร ซึ่งเรื่องราวตรงนี้แสดงให้คุณเห็นไปแล้วในภาพยนต์เรื่อง Super Mario Bros ฮอลลีวู้ดนั้นไม่ได้มองว่าเกมเกมนั้นสามารถเอามาทำเป็นหนังได้ไหม แต่ฮอลลีวู้ดมองว่าเกมนั้นได้รับความนิยมจนสามารถทำรายได้เข้าสู่สตูดิโอสร้างหนังไหม ซึ่งบางครั้งมันก็เหมือนกับยมทูตที่สังหารเกมต้นฉบับไปในตัว







การดัดแปลงที่ล้มเหลว



สมมุติเราจะต้องดัดแปลงเกมผู้กล้าฆ่าไม่เลือก ที่มีเรื่องราวคือผู้กล้าออกจากปราสาท เดินลุยป่า ถ้ำ ปราสาท และฆ่าจอมมาร สุดท้ายได้กับองค์หญิง ถ้าคุณเป็นผู้สร้างหนังจะดัดแปลงเรื่องราวเกมนี้ให้เป็นหนังที่สนุกอย่างไรบ้าง



มีผู้สร้างหนังหลายคนสามารถแปลงเกมให้กลายเป็นภาพยนต์ที่สนุกได้ อย่างเช่น Prince of Persia , Tomb Raider หรือ Resident Evil ซึ่งบางครั้งผู้สร้างหนังก็เลือกที่จะหยิบบางส่วนจากเกมมาและนอกนั้นก็แปลงเป็นภาพยนต์เพราะถ้าเราเอาเกมมาแปลงเป็นหนังทั้งหมดก็คงจะไม่เวิร์คอย่างแน่นอน ถ้าแปลงเป็นหนังได้ดีก็ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าแปลงได้ห่วยแตกล่ะ…..







เชื่อว่าคอเกมหลายคนคงได้ยินกิตติศักดิ์ของสุดยอดภาพยนต์จากเกมไฟท์ติ้งชื่อดังเรื่องนี้แน่นอน Street Fighter ที่ตอนนั้นได้นำดาราหนังแอ็คชั่นชื่อดังมากอย่าง Jean Claude Van Damme มาเป็น Guile ตัวละครในเกมและพระเอกของเรื่องซะเลย แถมยังมีดาราดีกรี Oscar อย่าง Raul Julia (ปัจจุบันล่วงลับแล้ว) มารับบทเป็น M.Bison (Vegaนั้นแหละ) หนังดูท่าจะไปได้สวยจนเมื่อมันฉาย มันกลายเป็นหนังที่แปลงบทจนแทบจะไม่มีเค้าโครงอะไรที่บ่งบอกว่ามันเป็น Street Fighter อีกทั้งการใส่ตัวละครอย่างทิ้งๆขว้างๆ มันจึงเป็นหนังที่เริ่มต้นคำสาปว่าหนังจากเกมต้องห่วยเสมออย่างที่ยังไม่มีใครแก้มันได้อย่างถาวรเลย และที่น่าอนาถคือในอีก 15 ปีถัดมา ฮอลลีวู้ดก็ได้สร้าง Street Fighter : Legend of Chun Li มาตอกย้ำฝันร้ายให้หนักขึ้นกว่าเดิมซะอย่างนั้น







หรือยกตัวอย่างที่น่าหดหู่อีกอันมันก็คือ Final Fantasy the Sprits Within ที่ได้บิดาผู้ให้กำเนิดเกมอย่าง ฮิโรโนบุ ซาคายุกิ มากำกับให้ แถมยังได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนังอนิเมชั่นแบบโมชั่นแคปเจอร์เรื่องแรกของโลก ทุ่มทุนสร้างไปกว่า140ล้านพร้อมเปิดเครือข่ายย่อยของบริษัทนามว่า Square Picture อย่างภาคภูมิใจ แต่ท่านซาคายูกิเกิดอาการอยากทำหนังไซไฟมากกว่าหนังแฟนตาซีที่คนตีตั๋วอยากไปดู กลายเป็นหนังปรัชญาไซไฟเข้าใจยากผลตอบรับของหนังจึงรับไปเนาะๆที่ 32 ล้านเท่านั้น ขาดทุนย่อยยับจน Square แทบล้มทั้งยืนและส่งผลให้ไปรวมกับบริษัทคู่แข่งอย่าง Enix ในภายหลัง แม้ว่าต่อมา Square จะได้กลับมาจับทำหนัง Final Fantasy อีกรอบใน Final Fantasy 7 Advent Children ได้รับคำชมไปมากโข แต่อย่างที่หลายคนรู้ว่า มันคือหนังของคนที่รู้เรื่อง Final 7 มาก่อนจึงจะดูสนุกกับมันได้ มันไม่ใช่หนังตลาดแม้แต่น้อย



ยังมีอีกหลายตัวอย่างที่บอกชัดเจนว่าผู้สร้างหนังแปลงเกมเป็นหนังอย่างลวกๆและขอไปทีเยอะมาก ในยุคแรกๆอาจจะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะหลายๆคนขอเพียงแค่เห็นตัวละครในเกมปรากฏบนหน้าจอก็พอใจแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปภาพยนต์มันต้องสนุก หากทำไม่สนุกก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ ฮอลลีวู้ดนำเกมมาดัดแปลงเพียงลวกๆเพื่อให้มีภาพยนต์ฉายกอบโกยตังค์จากแฟนเกมหรือคนที่รู้จักชื่อเสียงของเกม แต่ว่าเมื่อดัดแปลงไม่ได้เรื่องแล้ว ใครๆก็ย่อมที่จะบอกว่าถ้าจะดูหนังเหล่านี้สู้ไปเล่นเกมดีกว่า วัฏจักรนี้ก็ยังหนีไม่พ้นแม้กระทั้ง Resident Evil ซีรีย์ ที่ยอมรับว่ามันคือแฟนไชส์หนังจากเกมที่ทำรายได้สูงสุด แต่ว่าในทุกๆภาคของหนังที่ออกมายกเว้นภาคแรกล้วนได้เสียงก้นสาปจากแฟนเกมในเรื่องการเปลี่ยนเนื้อหาจนมั่วซั่ว การไม่ให้ความเคารพแก่เนื้อเรื่องต้นฉบับของเกม ยังโชคดีที่แบรนด์ของเกมตระกูลนี้สามารถทำให้หลายๆประเทศยังคงพร้อมใจไปดูหนังเรื่องนี้ได้เช่นเดิม







3.เจาะตลาดใคร??



หนังที่สร้างจากเกมตลาดหลักแปล้วมันควรจะเป็นใครที่เข้ามาดู แฟนเกมแน่นอน ใช่ครับแต่ว่าแล้วจำนวนแฟนเกมมันเท่าไรกัน……….

สร้างเพื่อตลาดของผู้ชมภาพยนต์ทั่วไปที่มีจำนวนเยอะกว่าแฟนเกมแน่ แล้วเค้าจะรู้เรื่องเกมๆนั้นหรือ



นี้คืออีก1ปัญหาที่ผู้สร้างหนังจากเกมต้องประสบ เพราะฐานตลาดผู้บริโภค2ตลาดนี้มันแตกต่างกันสิ้นเชิง ถ้าคุณจะสร้างหนังจากเกมเพื่อแฟนเกม แน่นอนรายได้จากหนังย่อมน้อยพอสมควร แต่ในทางกลับกันจะเจาะตลาดแก่ผู้ชมทั่วไป ก็จะถูกครหาจากแฟนเกมแน่นอนว่าหนังห่วย ฉะนั้นมันจึงหนีแทบไม่พ้นเลยที่ผู้สร้างหนังต้องสร้างหนังที่สามารถทำให้กลุ่มตลาด2กลุ่มนี้พอใจได้ หนังจากเกมหลายเรื่องจึงออกครึ่งๆกลางๆ ประมาณถูกใจแฟนเกมแค่ส่วนนึงและถูกใจคนดูแค่ส่วนนึง หรือก็มีหนังหลายเรื่องที่ทำเอาใจคนดูทั่วไปและก็มีฉากเล็กๆในแก่แฟนเกม เช่น DOOM ที่มีฉากแบบเล่นมุมมองบุคคลที่1แบบเกมไปเลย แต่ผลลัพท์ที่ออกมากลับน่าสงสารเพราะนอกจากจะได้เสียงหัวเราะเยาะเย้ยแก่คนดูทั่วไป แฟนเกมยังรู้สึกเหมือนโดนตบหน้าเข้าอย่างจัง จึงไม่แปลกอะไรที่ Doom ก็กลายเป็นหนังที่เจ๊งระเนระนาดไปอีก1เรื่อง หรือเอาใจคนดูหนังมากไปก็เช่น Max Payne ที่ลืมใส่ความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเกมต้นฉบับไปจนแฟนเกมบ่นอุบอิบ แล้วตัวหนังก็ยังทำออกมาแค่ครึ่งๆกลางๆสุดท้ายก็ไปไม่รอดเช่นกัน







4.ทุนสร้างอันมหาศาล



คุณรู้หรือไม่ Prince of Persia ลงทุนถึง 200ล้านดอลล่าห์ แต่ทำรายได้ในอเมริกาไปเพียง 90ล้านเท่านั้น….. (แม้ทั่วโลกจะได้ถึง 300ล้านเหรียญ แต่เมื่อตัดเปอร์เซนต์และค่าโปรโมทไปแล้ว ก็ยังไม่พอที่จะเรียกว่ากำไรอยู่ดี)



เกมนั้นเราสามารถที่จะจินตนาการสิ่งต่างๆให้มันยิ่งใหญ่ได้ ให้มันตระการตรา หรือระเบิดภูเขาเผากระท่อมได้ตามต้องการ โดยที่ทุนสร้างอย่างมาอาจแค่ 20-30 ล้านเหรียญอย่างมาก แต่สำหรับภาพยนต์ถ้าจะทำตามรูปแบบเกมทุนสร้างต่ำสุดก็ปาเข้าไป 90 ล้านเหรียญอย่างต่ำ ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนที่สูงมากสำหรับหนัง1เรื่อง โดยเฉพาะกับหนังที่ถ้าฐานมาจากเกมที่ไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่มากมายนักถ้าเทียบกับวัตถุดิบอื่นๆที่ใช้สร้างหนัง ย่อมมีความเสี่ยงที่สูงมากๆ หรือถ้าจะลดทุนสร้างก็คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีแน่ๆ



หนังจากเกมที่ต้องยุติเรื่องของการสร้างเพราะทุนมีเยอะมาก เช่น Bioshock หรือ HALO ก็ประสบปัญหานี้ ไม่เว้นแม้แต่ซีรีย์ Metal Gear ที่ในตอนแรกโซนี่ต้องการให้หนังมีทุนสร้างเพียงแค่ 50-60 ล้านเท่านั้น ซึ่งยากแน่นอนที่จะสร้างเกมสายลับไซไฟเรื่องนี้ด้วยทุนสร้างแค่นั้น (อาจจะได้นะ แต่ท่านคงกุมขมับกับโลเคชั่นหรือสเปเชี่ยลเอฟเฟคของหนัง) และด้วยรายได้จากหนังที่สร้างจากเกมทุนสร้างสูงเรื่องต่างๆมาเป็นตัวอย่าง คงทำให้สตูดิโอต้องคิดแล้วคิดอีกถ้าจะทำหนังจากเกมที่ต้องใช้ทุนสูง อย่าว่ายังงั้นยังงี้เลย Silent Hill ภาคใหม่ที่สร้างเสร็จไปจะครึ่งปีแล้วพึ่งมีสตูดิโอมาขอซื้อไปจัดจำหน่ายเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่แล้วเอง!! มันทำให้เรามองภาพได้ชัดขึ้นว่า แค่ซื้อมาจัดจำหน่ายยังต้องดูเชิงขนาดนี้ และถ้าออกทุนเองจะขนาดไหนล่ะ…….







จากที่ผมมองคงมองเพียงเท่านี้ก็พอเพียงแล้วที่จะบอกว่า ทำไมในยุคนี้หนังที่สร้างจากเกมเริ่มไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ ซ้ำร้ายยังเริ่มถูกเมินจากสตูดิโอมากขึ้นที่จะหยิบวัตถุดิบเหล่านี้มาสร้างเป็นภาพยนต์ เพราะทั้งเสี่ยง และใมช้ทุนสร้างสูง อีกทั้งการดัดแปลงทำได้ค่อนข้างยากมากไม่คุ้มที่จะเสี่ยงลงทุน เรามีบทเรียนมากมายจากหนังที่สร้างจากเกมมากมายว่ามันไม่ได้เวิร์คเอาเสียเลย โปรเจคเกมมากมายที่กำลังถูกทำเอามาเป็นหนังก็ถูกดองเค็ม ถูกยกเลิกไปพอสมควร ถ้าจะให้วัตถุดิบชิ้นนี้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง คงต้องรอใครซักคนสามารถที่จะทำให้มันกลายเป็นหนังที่ดีและดังเปรี้ยงปร้างจนสตูดิโอเห็นคุณค่าของมันอีกครั้ง แต่ว่าหลายๆคนลืมไปเรื่องนึง



วีดีโอเกม มันไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้เป็นภาพยนต์แต่แรก หากมันจะทำเป็นหนังจริง ก็ขอให้ใครซักคนดัดแปลงให้มันดีกว่านี้จะดีกว่า
Miscellaneous

ร่วมแสดงความเห็น

ติดต่อเรา