ข่าวสุดฮาประจำเดือนพฤษจิกา "เมื่อท่านเปาจะทำให้เด็กเสียคน"

เนื้อข่าวจากหนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10469



คนทำผิดต้องตายเท่านั้น หวั่น"ท่านเปาฯ-เดกะเรนเจอร์"ก่อกระแสเด็ก



*หวั่น "เปาบุ้นจิ้น"-"เดกะเรนเจอร์"ชอบประหารชีวิต เกรงส่งผลสะสมความรุนแรงให้เด็ก บ่มนิสัยต่อไปคนเลวต้องตายสถานเดียว*



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้นำภาพยนตร์เรื่อง "เปาบุ้นจิ้น" มาออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 18.15 น. ขณะที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้แพร่ภาพรายการซึ่งนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นชื่อ "เดกะเรนเจอร์" ในช่วงเวลา 08.00 น. ของวันอาทิตย์นั้นได้มีผู้ปกครองหลายคนแสดงความกังวลว่าทั้ง 2 รายการดังกล่าว ซึ่งแพร่ภาพในช่วงเวลาที่เด็กๆ จะดูโทรทัศน์กันเป็นจำนวนมากนั้นจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเด็กๆ ที่ชม เพราะในเปาบุ้นจิ้นนั้นแม้เนื้อหารายการจะพูดถึงความซื่อสัตย์ ความถูกต้องและความยุติธรรม แต่ในตอนท้ายหลายครั้งเปาบุ้นจิ้นก็ตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการประหารชีวิต เช่นเดียวกับ "เดกะเรนเจอร์" ที่เนื้อรายการพูดถึงเหล่าฮีโร่ 5 คน ซึ่งเป็นตำรวจอวกาศที่คอยพิทักษ์ความสงบของโลกจากเหล่าสัตว์ประหลาดตัวร้าย แต่ในตอนท้ายเมื่อสัตว์ประหลาดต่อสู้พ่ายแพ้ เดกะเรนเจอร์ก็จะพิพากษาความผิดซึ่งแทบทุกครั้งจะต้องตัดสินว่า "ประหารชีวิต" จากนั้นก็ฆ่าสัตว์ประหลาดให้ตายไป



เกี่ยวกับเรื่องนี้นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชนสร้างสรรค์ เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ว่า ความจริงการจะนำรายการใดมาให้ให้เด็กและเยาวชนดูจะต้องระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากเด็กจะรับสารที่ส่งมาให้ทั้งหมด ดังนั้น สิ่งที่ได้ชมจึงจะมีผลต่อวิธีคิดและความเชื่อ ตลอดจนพฤติกรรมต่างๆ ที่จะแสดงออก รายการที่มีลักษณะดังกล่าวจึงน่าจะเป็นการปลูกฝังความรุนแรงและค่านิยมที่ว่าคนเลวจะต้องตายเท่านั้น เป็นการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้สันติวิธี



"อย่างเปาบุ้นจิ้นถึงเนื้อหาจะดี แต่ก็สร้างความเชื่อเรื่องการลงโทษที่ว่าถ้าทำผิดจะต้องตอบแทนอย่างสาสม ถึงขั้นตายตกตามกัน แต่เมื่อกฎหมายไทยไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์เหมือนในเปาบุ้นจิ้น เพราะผลการตัดสินถูกผิดบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของทนาย จึงเกิดการเล่นกันนอกศาล การฆ่าตัดตอนเลยกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย การให้ดูรายการแบบนี้ก็เหมือนเป็นการสร้างคนพันธุ์ใหม่ สร้างบรรทัดฐานใหม่ โดยใช้เครื่องมือสื่อสาร" นายฉัตรชัยกล่าว



อย่างไรก็ตาม นายฉัตรชัยกล่าวว่า เรื่องนี้ตนคงไม่โทษสถานีโทรทัศน์ที่นำรายการมาแพร่ภาพ แต่อยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามารับผิดชอบ

"ถ้าจะแก้ให้เป็นระบบคิดว่าควรแก้ที่หน่วยงานรัฐ ผมไม่โทษคนทำธุรกิจเพราะเขาไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเด็ก แต่ได้รับมอบหมายมาให้ทำรายการเด็ก ดังนั้น รัฐควรต้องเปลี่ยนระบบโครงสร้าง ควรให้เงินแก่ผู้ผลิตเก่งๆ ไปทำรายการดีๆ และมีการลดภาษีให้พวกเขาด้วย" นายฉัตรชัยกล่าว



อย่างไรก็ตาม นายฉัตรชัยกล่าวว่า เมื่อสภาพการดำเนินงานยังเป็นอย่างทุกวันนี้ สถานีโทรทัศน์ก็อาจช่วยด้วยการพิถีพิถันในการเลือกรายการมานำเสนอ อีกทั้งต้องคิดถึงคุณภาพและสิ่งที่ผู้ชมจะได้รับมากกว่าความนิยมในตัวรายการและปริมาณของผู้ชม

"ไม่ใช่สักแต่จะซื้อ คัดเลือกกันหน่อย ให้คุณภาพต้องมาก่อนปริมาณผู้ชม เพราะถ้าต้องใช้คนสร้างประเทศก็ควรใช้สื่อดีๆ สร้างคน " นายฉัตรชัยกล่าว





จากเวปของหนังสือพิมพ์ครับ
Miscellaneous

ร่วมแสดงความเห็น

ติดต่อเรา